คณะกรรมการ กสทช.เห็นชอบ(ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยฯ

คณะกรรมการ กสทช.เห็นชอบ(ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยฯ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (15 มิ.ย. 2559) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ พ.ศ. ….. ที่ผ่านการพิจารณาของ กสท. และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยร่างประกาศหลักเกณฑ์ฉบับนี้ ได้กำหนดอัตราการนำส่งเงินรายได้เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ดังนี้ รายได้ 5 ล้านบาทแรก นำส่งในอัตราร้อยละ 0.5 รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท นำส่งในอัตราร้อยละ 0.75 รายได้ส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท นำส่งในอัตราร้อยละ 1 รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท นำส่งในอัตราร้อยละ 1.75 และรายได้ส่วนที่เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป นำส่งในอัตราร้อยละ 2

จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบในการดำเนินการจ้างโครงการจัดจ้างผู้ผลิต และจัดการ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ สื่อ และกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จากบริษัท อ๊อบเทนเม้นต์ จำกัด ในวงเงิน 53,565,730.10 บาท ซึ่งเป็นผู้เสนอวงเงินต่ำสุด จากนี้สำนักงาน กสทช. จะเร่งในการดำเนินการลงนามในสัญญาเพื่อให้บริษัทได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ในระบบดิจิตอลให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป

นายฐากร กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย. 2559) สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือแจ้งจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ว่าจะขอเลื่อนการชำระเงินที่ทางสำนักงาน กสทช. ได้เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมในกรณีที่บริษัทไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวนเงินทั้งสิ้น 199.423 ล้านบาท โดยบริษัทยินดีนำเงินดังกล่าวมาชำระ แต่ขอมาชำระในวันที่ 30 มิ.ย. 2559 โดยส่วนที่เกินจากวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2559 ขอให้สำนักงาน กสทช. คิดดอกเบี้ยตามประกาศ กสทช. ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมกันนี้หลังจากสำนักงานฯ ได้รับหนังสือก็ขอให้แจ้งยอดจำนวนเงินที่จะต้องชำระเพิ่มเติมในส่วนของดอกเบี้ยให้บริษัทได้รับทราบด้วย ซึ่งในวันนี้สำนักงาน กสทช. จะส่งหนังสือถึงบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ให้ได้รับทราบว่าวงเงินเดิมที่ได้เรียกให้มาชำระภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2559 เป็นจำนวน 199,423,991.61 บาท ถ้าบริษัทฯ นำเงินมาชำระในวันที่ 30 มิ.ย. 2559 จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 14 วัน โดยคิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นจำนวน 581,653.31 บาท ดังนั้นวงเงินที่สำนักงานฯ จะแจ้งให้บริษัทนำมาชำระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200,005,644.92 บาท

ส่วนความคืบหน้าการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) นั้น ทางสำนักงาน กสทช. ได้รับการสอบถามจากบริษัทว่าสามารถนำเงินมาชำระได้ช้าที่สุดภายในวันใด ซึ่งสำนักงานฯ ได้แจ้ง AWN ไปแล้วว่ากำหนดวันที่ช้าสุดในการนำเงินมาชำระคือวันที่ 27 มิ.ย. 2559 เนื่องจากสำนักงานฯ ยังมีกระบวนการในการออกใบอนุญาตที่จะต้องใช้เวลา 2-3 วันในการดำเนินการ เพื่อให้การใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นายฐากร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคมเตรียมเรียกผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ได้แก่ AIS, DTAC, TRUE MOVE, CAT และ TOT เข้าหารือหลังพบปัญหาการร้องเรียนสายหลุดยังไม่ได้รับการแก้ไขในหลายพื้นที่ โดยจากข้อมูลการร้องเรียนเรื่องคุณภาพการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กรณีสายหลุดที่ประชาชนแจ้งเข้ามายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1200 ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2558 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 มียอดร้องเรียนรวม 1,916 เรื่อง แบ่งเป็น เครือข่าย AIS 994 เรื่อง เครือข่าย DTAC 497 เรื่อง เครือข่าย TRUE MOVE 238 เรื่อง เครือข่าย CAT 32 เรื่อง และเครือข่าย TOT 5 เรื่อง โดยพื้นที่ร้องเรียนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นพื้นที่เดิมที่เคยมีการร้องเรียนมาแล้ว เช่น กรุงเทพมหานคร ในเขตคลองเตย จตุจักร มีนบุรี วัฒนา ลาดกระบัง บางขุนเทียน บางเขน บึงกุ่ม และยานนาวา ต่างจังหวัด เช่น กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จันทบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ส่งข้อมูลเรื่องการร้องเรียนทั้งหมดให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน และสำนักงานจะได้ส่งรถตรวจสอบคุณภาพสัญญาณออกตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบการว่าได้มีการแก้ไขปัญหาแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ เสียงที่ประชาชนร้องเรียนและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสายหลุดมายังสำนักงาน ทำให้สำนักงานสามารถทราบจุดพื้นที่ที่มีปัญหาเพื่อทำการแก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว

เรื่องสุดท้ายที่ประชุม กสทช. ได้มีมติมอบหมายให้ กสท. พิจารณาเรื่องกระบวนการ ขั้นตอน และการดำเนินโครงการแจกคูปองดิจิตอลทีวี ที่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้า คสช. ให้มีการแจกเพิ่มเติมอีกจำนวน 5.1 ล้านใบ ให้กับ 1.ครัวเรือนที่ได้รับสิทธิ์แจกคูปองครั้งแรก แต่ไม่ได้รับคูปองดังกล่าว (เฉพาะที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่งคืนสำนักงาน กสทช.) 2.ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้าน และมีเจ้าบ้านซึ่งมีขึ้นภายหลังวันที่ 16 ก.ย. 2557            3.ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้าน และมีผู้อยู่อาศัยแต่ไม่มีเจ้าบ้าน 4.ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราว และมีเจ้าบ้าน โดยขั้นตอนการดำเนินการจะเปลี่ยนจากการใช้คูปองแบบเดิมเป็นการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card ที่มีการเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครองเพื่อยืนยันการรับสิทธิ์ ทั้งนี้ การใช้ Smart Card แทนการใช้คูปองแบบเดิมจะช่วยทำให้ประหยัดงบประมาณในการดำเนินการลงมาก